การปลูกกระดูกร่วมกับการทำรากฟันเทียม กรณีที่กระดูกไม่เพียงพอ

หลายๆท่านที่เคยไปปรึกษาทันตแพทย์มาแล้ว และพบว่ากระดูกไม่พอที่จะทำรากฟันเทียมได้ จำเป็นต้องเสริมกระดูก วันนี้หมอจะมาอธิบายให้ฟังคร่าวๆนะคะ ถึงสาเหตุและวิธีการเสริมหรือแก้ปัญหาเรื่องนี้ เพื่อให้คนไข้ได้มีฟันใช้ต่อไปค่ะ

เคสไหนบ้างที่กระดูกไม่พอ

จากประสบการณ์ที่ทำรากฟันเทียมหลายร้อยราก ทั้งคนไทยและต่างชาติ พบว่าส่วนมากคนไข้คนไทย หรือคนเอเชียจะมีกระดูกค่อนข้างบาง และมีปัจจัยอื่นอีก เช่น การติดเชื้อบริเวณขากรรไกรซึ่งทำให้มีการทำลายของกระดูกบริเวณนั้น หรือ ในเคสที่มีการถอนฟันไปนานแล้ว กระดูกจะค่อยๆ remodeling ตัวเอง คือค่อยๆฝ่อลงไป

แต่ไม่ได้เป็นทุกคน บางคนที่ถอนฟันไปไม่นานนัก หรือมีกระดูกค่อนข้างสมบูรณ์ ก็สามารถผ่าตัดฝังรากเทียมได้โดยไม่ต้องปลูกกระดูกเพิ่ม

แต่ถ้าแพทย์พิจารณาว่ากระดูกไม่เพียงพอแล้ว ก็จำเป็นที่จะต้องเสริมกระดูกเพื่อความแข็งแรงของรากฟันเทียมในระยะยาว

ตัวอย่างเคสที่กระดูกไม่เพียงพอในการใส่รากฟันเทียม เนื่องจากสูญเสียกระดูกไปจากโรคปริทันต์และสูญเสียยฟันไปนาน และ(ภาพขวามือ)หลังจากทำการปลูกกระดูก

เราจะประเมินกระดูกได้อย่างไร

เราจะประเมินกระดูกได้ ต้องทำการเอกซเรย์สามมิติ(3D CBCT)ซึ่งในฟิล์มเอกซเรย์จะสามารถเห็นทั้งความกว้าง ความหนา ความลึกในทุกมิติ นอกจากนี้ยังสามารถเห็นอวัยวะสำคัญ เช่น เส้นเลือด เส้นประสาท ได้ทำให้แพทย์สามารถวางแผนในการผ่าตัดให้ไม่โดนอวัยวะสำคัญเหล่านั้นได้

การเอกซเรย์สามมิติ ช่วยให้แพทย์ประเมินความกว้าง ความลึกของกระดูกได้ และประเมินระยะระหว่างบริเวณที่จะใส่รากฟันเทียมกับอวัยวะสำคัญได้

ถ้าไม่อยากปลูกกระดูกจะทำอย่างไรได้บ้าง

ในกรณีที่คนไข้มีฟันหายหลายตำแหน่ง เราอาจจะเลี่ยงปักรากฟันเทียม ในบริเวณที่มีกระดูกเพียงพอหรือเสริมกระดูกน้อยหน่อย แล้วทำเป็นสะพานฟัน หรือ ฟันปลอมมายึดกับรากฟันเทียมนั้นๆได้

แต่ถ้าบริเวณที่สำคัญแล้วกระดูกไม่พอจริงๆยังไงก็ไม่สามารถเลี่ยงได้ ก็จำเป็นต้องปลูกกระดูกค่ะ

การปักรากฟันเทียมเพื่อรับฟันปลอม สามารถเลี่ยงตำแหน่งที่ต้องปลูกกระดูก โดยการฝังรากฟันเทียมในตำแหน่งที่มีกระดูกเพียงพอ
การผ่าตัดรากฟันเทียมแบบ all-on-X จะเอียงตัวริมสุด เพื่อหลบโพรงอากาศไซนัส เพื่อลดขั้นตอนความยุ่งยากจากการปลูกกระดูกในไซนัส

ค่าใช้จ่ายในการปลูกกระดูก

ในการปลูกกระดูกจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ขึ้นกับปริมาณและเทคนิกในการปลูกกระดูก นอกจากนี้แพทย์ยังจำเป็นที่จะต้องเลือกกระดูกเทียมที่เหมาะสมกับผู้ป่วยและเทคนิคที่จะเติม

กระดูกเทียมเองก็มีหลายรุ่นหลายราคา ไม่ว่าจะเป็นกระดูกสังเคราะห์ กระดูกวัว กระดูกหมู หรือแม้แต่กระดูกมนุษย์ แน่นอนการเลือกวัสดุก็ต้องเลือกให้เหมาะสมกับงานที่ทำ เช่น กรณีที่ถอนแล้วปลูกกระดูก เราก็จำเป็นที่จะต้องเลือกกระดูกที่มีการละลายตัวเร็ว เพื่อไม่ให้ต้องรอนาน แต่กรณีที่เราเสริมความอูมของสันกระดูก เราก็ต้องการกระดูกที่คงตัวมากกว่า อันนี้คุณหมอจะเป็นคนเลือกให้คนไข้อีกที ว่าแบบไหนที่เหมาะสมกับเคสนั้นๆ

กระดูกวัวที่ผ่านการสกัดโปรตีนออก ยี่ห้อ Bio-Oss เป็นกระดูกเทียมที่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง ถึงคุณสมบัติและประสิทธิภาพในการปลูกกระดูก

จากประสบการณ์พบว่า อัตราความสำเร็จของกระดูกเทียมและเมมเบรนที่คุณภาพสูง(ซึ่งอาจจะมีราคาค่อนข้างสูง) ร่วมกับเทคนิคที่เหมาะสมจากทันตแพทย์ที่มีประสบการณ์และมีความชำนาญ จะทำให้ผลการรักษายั่งยืนในระยะยาวดังนั้น แนะนำว่าให้มองที่ผลระยะยาวจะดีที่สุดค่ะ

ทพญ.นลัท ว่องวัจนะ