การใส่ฟันทั้งขากรรไกรแบบ All-on-4 และ All-on-6 ต่างกันอย่างไร?

ในอดีตการใส่ฟันทดแทนติดแน่นทั้งขากรรไกร มักจะใช้รากฟันเทียม 8 ถึง 10 ราก รองรับสะพานฟันหรือฟันปลอม แต่ในปัจจุบัน มีเทคนิค “All-on”ขึ้นมา โดยจะวางตำแหน่งรากฟันเทียมตัวริมสุดให้เอียง เพื่อให้ครอบคลุมบริเวณด้านท้ายของฟันปลอม ด้วยความที่เทคนิกนี้ช่วยให้คนไข้ได้ฟันเร็วขึ้น และใช้รากฟันเทียมจำนวนน้อยลง จึงได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน ดังนั้น เวลาที่หาข้อมูลเกี่ยวกับการทำรากฟันเทียมทั้งขากรรไกร คำว่า all-on-6 และ all-on-4 จึงเป็นคำที่พบเสมอ

All-on-4 dental implants

เทคนิค All-on-4 นี้ได้เริ่มต้นในปี 2003 โดย Nobel Biocare โดยใช้รากฟันเทียมทั้งหมด สี่ราก และวางตำแหน่งรากฟันเทียมให้หลบอวัยวะสำคัญ เช่น ไซนัส หรือ เส้นประสาท ทำให้การใช้เทคนิคนี้(ในคนไข้ที่มีฐานกระดูกเพียงพอ) สามารถหลีกเลี่ยงการปลูกกระดูก(Bone graft)ได้

โดยเทคนิคนี้จะใช้รากฟันเทียมสองตัวหน้าปักตรงๆ และสองตัวหลังปักเอียง (การฝังรากฟันเทียมที่เอียงและห่างจากสองตัวหน้า ทำให้เกิดการกระจายแรงที่สมดุลบนฟันปลอม) เทียบคือการมีขาโต๊ะสี่ขาที่ช่วยประคองฟันปลอมด้านบนเอาไว้

All-on-4 ต่างจาก All-on-6 อย่างไร

ความแตกต่างที่ชัดเจนที่สุดคือ จำนวนรากฟันเทียม โดย all-on-6 ใช้รากฟันเทียม 6 ราก ในขณะที่ all-on-4 ใช้รากฟันเทียม 4 ราก ยิ่งที่จำนวนรากฟันเทียมมากเท่าไหร่ ความแข็งแรงและความมั่นคงของฟันปลอมที่ยึดกับขากรรไกรก็มากขึ้นเท่านั้น นอกจากนั้นการที่มีแรงส่งผ่านไปยังขากรรไกร ยังช่วยให้กระดูกขากรรไกรละลายช้าลง (โดยถ้าไม่ได้ใส่รากฟันเทียมในขากรรไกร เมื่อขากรรไกรไม่ได้รับแรงกระตุ้น กระดูกขากรรไกรจะฝ่อลง)

All-on-6 dental implants คืออะไร

All-on-6 dental implants จะช่วยรับฟันปลอมที่ยึดติดกับขากรรไกร ได้อย่างแข็งแรงและมั่นคง ทำให้การใส่ฟันเป็นอย่างมั่นคงและฟันปลอม โดยการที่มีจำนวนรากฟันเทียมมากขึ้นทำให้มีหลักยึดที่มากขึ้น รับแรงมากขึ้น ฟันปลอมก็คงทนมากขึ้น

อย่างไรก็ตามในคนไข้ที่กระดูกไม่เพียงพอที่จะใส่รากฟันเทียมถึงหกราก ก็อาจจะเลือกทำเป็น all-on-4 ได้

สุดท้ายแล้วแนะนำว่าควรตรวจและปรึกษาแพทย์ว่ากรณีของเราจะใส่ฟันแบบไหนได้บ้าง เพื่อเป็นทางเลือกในการตัดสินใจที่ดีที่สุดค่ะ