การปลูกกระดูก รากฟันเทียม คืออะไร ทำเมื่อไหร่?
การปลูกกระดูก ในขั้นตอนการทำรากฟันเทียม จะทำในกรณีที่กระดูกบริเวณที่จะใส่รากฟันเทียมมีไม่เพียงพอที่จะฝังรากฟันเทียมได้ หรือมีกระดูกไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดความแข็งแรงของรากฟันเทียมในระยะยาว โดยอาจจะเกิดจากการสลายของกระดูกเนื่องจากการถอนฟันไปนานๆ หรือเกิดการติดเชื้อในบริเวณฟันก่อนถอน ซึ่งทำให้เกิดการละลายของกระดูกโดยรอบรากฟัน
ทำไมต้องปลูกกระดูก
รากฟันเทียมจะอยู่ในกระดูกขากรรไกร โดยรากฟันเทียมจะอยู่อย่างแข็งแรงในระยะยาวได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับกระดูกขากรรไกรที่รองรับรากฟันเทียมนั้นๆ ดังนั้น ถ้ากระดูกขากรรไกร ไม่เพียงพอ หรือ มีคุณภาพกระดูกไม่พร้อมที่จะทำให้เกิดความแข็งแรงของรากฟันเทียมในระยะยาวแล้ว ต้องทำการเสริมกระดูกเพื่อให้รากฟันเทียมมีความแข็งแรง และคงทนอยู่กับเราได้นานๆค่ะ
ใครที่ต้องปลูกกระดูก เสริมกระดูก ในการทำรากฟันเทียม
- ผู้ที่เคยมีการติดเชื้อบริเวณซี่ฟัน ก่อนการถอนฟัน
- ผู้ที่ใส่ฟันปลอมไปเป็นเวลานาน และเกิดการสลายของกระดูกขากรรไกร
- ผู้ที่กระดูกขากรรไกรมีไม่เพียงพอที่จะพยุงรากฟันเทียมไว้ได้
- ผู้ที่ถอนฟันไปเป็นเวลานานแล้วไม่ได้ทดแทนฟัน ทำให้กระดูกที่รองรับฟันสลายไป
- ผู้สูงวัยที่กระดูกสลายไปตามวัย
- ผู้ที่กระดูกขากรรไกรบาง
วัสดุที่ใช้ปลูกกระดูกรากฟันเทียม
การเสริมกระดูก หรือ การปลูกกระดูกรากฟันเทียม คือ การปลูกถ่ายชนิดหนึ่ง โดยมีทั้งการใช้กระดูกจริงของคนไข้เองมาปลูกและการใช้วัสดุทดแทนกระดูกของคนไข้
วัสดุทดแทนกระดูกของคนไข้ จะช่วยในการลดการเปิดแผลที่สอง เนื่องจากถ้าใช้กระดูกของคนไข้เอง จะต้องเปิดแผลสองบริเวณ(ในบางเทคนิค)
วัสดุปลูกกระดูกรากฟันเทียมทดแทนกระดูกของคนไข้ ได้แก่
- Allograft หรือ กระดูกของผู้ที่บริจาคอวัยวะมาใช้ในการแพทย์
- Xenograft หรือ กระดูกของสัตว์ต่างสปีชีส์ เช่น กระดูกวัว กระดูกหมู กระดูกม้า
- Alloplast หรือ วัสดุสังเคราะห์ เช่น hydroxyapatite ซึ่งเป็น Bioactive glass
กระดูกเทียมกับรากฟันเทียมก็ไม่ต่างกัน คือ มีหลายยี่ห้อ และหลายราคา โดยแนะนำว่าควรเลือกบริษัทที่เชื่อถือได้ มีผลการวิจัยที่ได้รับการยอมรับ คำนึงถึงคุณภาพเป็นหลักค่ะ
ขั้นตอนการปลูกกระดูก รากฟันเทียม
- ทันตแพทย์จะทำการตรวจช่องปาก ร่วมกับเอกซเรย์และวางแผนการรักษา
- ทันตแพทย์จะเลือกเทคนิคการรักษาที่เหมาะสมกับเคสนั้นๆ เช่น การปลูกกระดูกในไซนัส การปลูกกระดูกเพื่อเสริมสันกระดูก โดยในบางเคสอาจจะมีการใช้เทคนิคหลายๆเทคนิคร่วมกัน
- ประเมินว่าใช้กระดูกของคนไข้ร่วมด้วยหรือไม่
- กรณีที่ต้องใช้กระดูกของคนไข้ร่วมด้วยจะทำการตัดกระดูกจากบริเวณอื่นของร่างกายมาใช้ในบริเวณที่เป็นปัญหา
- กรณีที่ใช้วัสดุทนแทน จะทำได้ทันที
- ประเมินว่าสามารถปลูกกระดูกพร้อมใส่รากฟันเทียมได้เลยไหม หรือ ต้องรอปลูกกระดูกก่อนแล้วค่อยใส่รากฟันเทียมทีหลัง
- กรณีที่มีกระดูกเพียงพอที่จะรับรากฟันเทียมใช้แข็งแรงได้ แต่กระดูกนั้นไม่สามารถครอบคลุมรากฟันเทียมทั้งหมด จะปลูกกระดูกเพื่อให้มีกระดูกทั้งหมดคลุมรากฟันเทียมและเกิดความแข็งแรงในระยะยาว
- กรณีที่กระดูกขากรรไกรน้อยมาก ไม่สามารถใส่รากฟันเทียมพร้อมปลูกกระดูกไปพร้อมกันได้จะต้องเสริมกระดูกก่อนแล้วรอให้กระดูกพัฒนาเป็นเวลา 3-6 เดือน หรือบางเคสอาจจะรอ 8-12 เดือน ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์