การนอนกัดฟันเป็นอาการของผู้ที่มีความผิดปกติด้านการบดเคี้ยว สามารถพบได้ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ ทั้งเพศชายและหญิง
การนอนกัดฟันที่ยังไม่รุนแรงอาจไม่จำเป็นต้องทำการรักษา แต่สำหรับผู้ที่นอนกัดฟันถี่และรุนแรงจนอาจทำให้เกิดความผิดปกติกับขากรรไกร ปวดหัว และสร้างความเสียหายให้กับฟัน จำเป็นต้องได้รับการรักษา
สาเหตุของการนอนกัดฟัน
สาเหตุที่แท้จริงของการนอนกัดฟันยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด และอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เช่น
✔ การถูกรบกวนการนอนหลับ
✔ การเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในสมอง
✔ การใช้ยาบางชนิด
✔ การบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ คาเฟอีน
✔ พันธุกรรม
✔ การสูบบุหรี่
✔ การขาดสารอาหาร
✔ ปัญหาทางจิตสังคม เช่น ความวิตกกังวล ความเครียด
วิธีการแก้ไขอาการนอนกัดฟัน
1. การปรับพฤติกรรม เช่น ลดความเครียด ความกังวล หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ คาเฟอีน รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
2. ใส่เฝือกสบฟัน (Occlusal Splint) เพื่อลดการสึกของฟัน ตลอดจนตรวจสอบการสบฟันว่ามีบริเวณใดที่สบสะดุด ควรได้รับการแก้ไขต่อไป
3. การรักษาด้วยยา เพื่อคลายกล้ามเนื้อ
4. พยายามจัดสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการนอนหลับ
5. Biofeedback เพื่อกระตุ้นให้บุคคลเลิกทำพฤติกรรมไม่พึงประสงค์