หมอได้ลงทุนซื้อเครื่องแสกนช่องปากสามมิติ มานานเป็นปีแล้วแต่ไม่มีโอกาสได้นำมาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพสักที เอามาใช้แต่งาน จัดฟันใส INVISALIGN อย่างเดียว หลังจากพบ LAB PARTNER ที่สามารถทำงานร่วมกันได้ จึงได้เริ่มมาทำงานดิจิตอลมากขึ้น
เคสตัวอย่างนี้ คนไข้ถอนฟันไปหลายสิบปี ตอนแรกจะปรึกษาเพื่อทำสะพานฟัน แต่หมอไม่แนะนำเพราะว่าถ้าทำสะพานฟันแล้วต้องกรอฟันอีกสองซี่เพิ่มเติม ซึ่งทั้งสองซี่หน้าหลังนี้ยังเป็นฟันที่ดีอยู่ จึงแนะนำทำรากฟันเทียม แต่ด้วยความที่ฟันถูกถอนไปนานแล้วทำให้สันเหงือกแคบลง จึงได้ทำการใส่รากฟันเทียมพร้อมกับการปลูกกระดูก(ค่อนข้างเยอะมาก) ด้วยความที่ปลูกกระดูกเยอะ จึงขอให้คนไข้ใจเย็น รอสักหกเดือนค่อยมาใส่ฟัน
.
.
.
หกเดือนผ่านไป
.
.
.
หลังจากที่มาตรวจพบว่ารากเทียมยึดติดกับกระดูกขากรรไกรได้ดี ระดับกระดูกอยู่ตำแหน่งที่พอใจ หมอจึงทำการพิมพ์ปากระบบดิจิตอล โดยการแสกนโดยใช้เครื่องแสกน 3D iTero แล้วทำการ Export file เป็น STL เพื่อส่งไปที่แลป เมื่อแลปได้ไฟล์แล้ว (ไม่เกิน ห้านาที) ก็ทำการดีไซน์และส่งแบบมาเพื่อให้หมอตรวจเช็คก่อนที่จะทำการกลึงเซอร์โคเนีย
( อ้อลืมบอกไปว่า ในเคสรากเทียมส่วนมากจะใช้ครอบกลุ่ม Metal free เนื่องจากเข้ากันได้ดีกับร่างกาย และไม่ทำปฏิกริยากับส่วน TITANIUM ที่เป็นองค์ประกอบกับรากฟันเทียม )
กลับมาที่การกลึงเซอร์โคเนีย หลังจาก Technician ทำการดีไซน์และได้รับการ approve แล้ว ก็จะทำการกลึงทำให้ได้รูปร่างเป็นฟันตามที่ออกแบบ จากนั้นจะไปทำการเผาและตกแต่ง เคลือบเงา ให้ได้รูปร่างตามที่ต้องการ
จากนั้นงานก็จะส่งกลับมาที่คลินิก (ใช้เวลาไม่เกินสองวัน)
หมอก็จะทำการลองครอบฟัน ถ้าทุกอย่างเป็นตามมาตรฐานที่ต้องการ ก็จะทำการขันสกรูและยึดติดครอบเป็นอันเสร็จเรียบร้อย
พบว่า
ข้อดีของระบบดิจิตอล คือ
งานรวดเร็ว และแม่นยำมาก ลดขั้นตอนและทรัพยากรไปได้มากโข ไม่ว่าจะเป็น ปูน วัสดุพิมพ์ปาก คนไข้ไม่ต้องพิมพ์ปาก แค่แสกนด้วยเครื่องแสกน ทำให้ไม่ต้องผะอืดผะอมกับวัสดุพิมพ์
ข้อเสีย
เครื่องแพงมากกกกกกกกกกกก แต่พอซื้อมาก็ต้องใช้ –“การ Setup digital workflow ต้องมีการ calibrate พอสมควรกับแลป เพื่อให้ได้ผลแม่นยำ และช่างเทคนิกต้องมีความชำนาญ
เรื่องของ digital dentistry ยังไม่หมดแค่นี้ ยังสามารถเอามาใช้ประยุกต์ได้อีกหลายงาน ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนการออกแบบรอยยิ้ม ออกแบบครอบหรือวีเนียร์ให้เข้ากับใบหน้า ตลอดจนช่วยในการวางแผนและผ่าตัดรากฟันเทียม ซึ่งจะมาเล่าให้ฟังกันอีกภายหลังค่ะ