เคสนี้เป็นเคสแรกๆ (น่าจะประมาณรากที่สามหรือสี่) ที่หมอเริ่มต้นทำรากฟันเทียม
ตอนที่เริ่มทำรากฟันเทียมใหม่ๆ อาจารย์จะย้ำเสมอว่าให้ทำฟันกราม ให้ชำนาญก่อน แล้วค่อยมาทำฟันหน้า
ทำฟันหลังให้ได้ร้อยรากก่อนแล้วค่อยมาทำฟันหน้า
เนื่องจากกระดูกบริเวณฟันหลัง ถ้าคนไข้ถอนไม่นานนัก จะมีความสูงและความกว้างค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับฟันหน้า ที่มักจะต้องทำการปลูกเหงือก – กระดูกเพิ่มเติม และต้องความความสวยงาม
มาเล่าเรื่องเคสนี้ดีกว่า
เคสนี้จริงๆเป็นคนไข้ของคุณหมออีกท่าน ตอนที่หมออยู่ รพ.สำโรงการแพทย์ คนไข้รักษารากมาแล้วตอนหลังรากฟันแตก จึงจำเป็นที่ต้องถอน
เมื่อตรวจช่องปาก พิจารณาการสบฟัน ระยะของช่องว่าง พบว่ายังสมบูรณ์ (เวลาที่ถอนฟัน ถ้าทิ้งไว้นานๆ สันเหงือกจะลีบ แบน และฟันข้างเคียงล้มมาบริเวณช่องว่าง)
จึงให้คนไข้ไปทำการเอกซเรย์สามมิติ เพื่อวัดสภาพของสันเหงือก ว่ามีความกว้าง ความยาว รวมถึงระยะห่างของบริเวณที่จะใส่รากเทียมกับเส้นประสาทว่ามีเพียงพอสำหรับใส่รากฟันเทียมหรือไม่
จากนั้นก็ถึงวันที่เราทำการใส่รากเทียม
เคสนี้ถอนฟันไปประมาณสองเดือน กระดูกเริ่มเต็ม แต่ความหนาแน่นยังไม่มากนัก ทำให้การเตรียมช่องที่ใส่ทำได้ไม่ยากนัก
เมื่อเราใส่รากไปแล้ว มีทางเลือกสองทาง คือ ถ้ารากฟันเทียมไม่แน่นเท่าที่ควร หรือมีการปลูกกระดูกร่วมด้วยจะใส่ฝาปิดขนาดเล็ก เรียกว่า coverscrew แต่ถ้ารากฟันเทียมสามารถใส่ในกระดูกได้แน่น หมอจะเลือกที่ใส่ฝาปิดตัวใหญ่และสูง(Healing Abutment)เนื่องจากจะช่วยในการฟอร์มรูปร่างเหงือกด้วย
ในกรณีนี้รากฟันเทียม ได้ primary stability ที่ดี คือกระดูกดีและเกลียวรากเทียมพอดีกับช่องที่เตรียมไว้ จึงเลือกใส่ Healing abutment
จากนั้นเย็บแผล ประมาณสองเข็มจิ๋วๆ (ในฟันหลัง ปกติจะไม่ได้ใส่ชั่วคราวให้คนไข้)
รออีกสองเดือน
รากเทียมจะยึดกับกระดูก โดยกระบวนการที่เรียกว่า osseointegration คือเซลล์กระดูกจะเข้ามาในรูพรุนที่ผิวของรากเทียม จากนั้นสร้างเข้ามายึดเป็นเนื้อเดียวกัน โดยกระบวนการนี้ใช้เวลาประมาณสองเดือน
เมื่อกลับมาเชค หมอจะวัดความแข็งแรงของรากฟันเทียม ว่าแข็งแรงเพียงพอที่จะรับแรงบดเคี้ยวหรือยัง
ถ้าแข็งแรงพอแล้ว จะทำการพิมพ์ปาก
จากนั้นรอประมาณหนึ่งสัปดาห์ ก็จะได้ครอบฟันบนAbutment กลับมา
วันที่คนไข้รอก็มาถึง
หมอจะทำการไขเอา healing abutment ออก ซึ่งจะเห็นว่า เหงือกบริเวณรอบๆ มีลักษณะเป็น เบ้า เพื่อรองรับพอดีกับครอบฟัน ที่ใส่ไป
จากนั้นหมอจะทำการขันใส่ครอบฟัน ไปยึดกับรากฟันเทียมที่แข็งแรงแล้ว (แรงโดยปกติประมาณ 35 นิวตัน หรือประมาณ 3.5 กิโลกรัม)
วันแรกๆที่ใส่ฟัน เหงือกจะยังไม่ค่อยเข้ามาแนบพอดีนัก หลังจากรอประมาณหนึ่งสัปดาห์ เหงือกจะเข้ามาแนบพอดีกับครอบฟันที่ใส่ไว้ ทำให้ดูไม่ออกเลยทีเดียวว่าเป็นฟันจริง หรือเป็นครอบบนรากฟันเทียม!!
ส่วนเรื่องของการตรวจเช็ค
โดยปกติจะแนะนำคนไข้มาตรวจทุกหกเดือน (พร้อมๆกับขูดหินปูนและตรวจสุขภาพช่องปากประจำปี) ค่ะ สามารถอ่านเพิ่มเติมจากลิงค์นี้ค่ะ
ทพญ.นลัท ว่องวัจนะ