คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ควรให้ความสำคัญกับสุขภาพฟันและเหงือก เพราะ โรคเหงือกบางชนิด อาจจะทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด หรือ เชื้อโรคที่สามารถกระจายเข้าสู่กระแสเลือด จนเป็นปัญหาหรือส่งผลกระทบไปสู่ลูกในครรภ์ได้ เพื่อคลายความกังวลใจและรักษาให้ถูกวิธี สไมล์ แอนด์ ชายน์ เรามีคำตอบเกี่ยวกับสุขภาพช่องปากที่คุณแม่ควรรู้มาบอกค่ะ
อาการที่พบระหว่างตั้งครรภ์
ฟันผุ
ช่วงตั้งครรภ์คุณแม่จะหิวและรับประทานอาหารบ่อยขึ้น ทำให้น้ำตาลหรือเศษอาหารไปเกาะอยู่ตามซอกฟันได้ง่ายขึ้นและมีอาการอาเจียนทำให้มีกรดจากกระเพาะอาหารมาติดตามซอกฟัน เป็นสาเหตุให้ฟันผุได้ง่าย
ภาวะโรคเหงือกอักเสบ
ช่วงตั้งครรภ์ฮอร์โมนกลุ่มโปรเจสเตอโรนที่สูงขึ้นจะทำให้หลอดเลือดขนาดเล็กของเหงือกเปลี่ยนแปลง เนื้อเยื่อต่างๆ โดยเฉพาะเหงือกในช่องปากนุ่ม ทำให้อักเสบและเลือดออกง่าย เป็นแผลในช่องปาก อาจทำให้คุณแม่รู้สึกไม่กล้าแปรงฟัน การดูแลทำความสะอาดช่องปากไม่เพียงพออาจจะทำให้เกิดภาวะ “คลอดก่อนกำหนด”
เลือดออก
ระหว่างการตั้งครรภ์คุณแม่จะทานอาหารจำพวกแป้ง และน้ำตาล ซึ่งคราบจะทำให้แบคทีเรียเติบโตได้ดี เกาะอยู่ตามซอกเหงือก ซอกฟัน กลายเป็นคราบหินปูน ทำให้เหงือกอักเสบและมีเลือดออกตามไรฟัน
วิธีดูแลสุขภาพช่องปาก
- ระหว่างตั้งครรภ์ควรเพิ่มอาหารพวก โปรตีนจากเนื้อสัตว์ นม ไข่ เพิ่มผักและถั่ว ลดขนมหวาน กินผลไม้หรือดื่มน้ำผลไม้แทน เพื่อให้ได้รับโปรตีน หลีกเลี่ยง การกินอาหารที่มีน้ำตาลสูง และ อาหารจำพวกแป้ง เช่น น้ำอัดลม น้ำหวาน นมเปรี้ยว
- หลังอาเจียน ควรบ้วนปากด้วยน้ำเปล่าทุกครั้ง
- แปรงฟันให้สะอาด วันละ 2 ครั้ง ด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ นาน 2 นาที ร่วมกับการทำความสะอาดซอกฟันทุกวัน
- ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจฟันและทำความสะอาดช่องปาก ไม่ควรรอจนกระทั่งมีอาการ
ตั้งครรภ์ควรทำฟันเมื่อไหร่
ระยะที่สามารถทำฟันได้อย่างปลอดภัยคือ ตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 คือช่วงอายุครรภ์ 4 -6 เดือน แต่ถ้าคุณแม่มีการวางแผนการตั้งครรภ์อยู่ก่อนแล้ว แนะนำให้มาตรวจฟันก่อนการตั้งครรภ์และรับคำปรึกษาการดูแลช่องปากจากทันตแพทย์
แต่ถ้าหากจำเป็นต้องไปพบทันตแพทย์ควรแจ้งว่ากำลังตั้งครรภ์อยู่ เพราะกรณีที่มีความจำเป็นต้องเอ็กซเรย์ คุณหมอจะพิจารณาทำเท่าที่จำเป็น รวมทั้งป้องกันด้วยการใส่เสื้อตะกั่วกันรังสี รวมทั้งการจ่ายยาในกลุ่มที่มีความปลอดภัยสำหรับคุณแม่
ระยะต่างๆ ในช่วงตั้งครรภ์
- 3 เดือนแรก : ช่วงนี้ลูกน้อยมีการสร้างและพัฒนาของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย การทำฟันอาจมีผลต่อลูกในครรภ์ได้ แต่หากคุณแม่ต้องได้รับการรักษาที่ฉุกเฉิน กการรักษาก็เป็นสิ่งที่จำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาจเกิดผลเสียทั้งกับแม่และเด็กได้
- ช่วง 4-6 เดือน : การพัฒนาอวัยวะของลูกน้อยเสร็จแล้ว การทำฟันและรังสีเอกซ์จะมีผลกับลูกน้อยในครรภ์น้อยที่สุด
- 3 เดือนสุดท้ายก่อนคลอด : เช่นเดียวกับช่วงไตรมาสแรก หากต้องได้รับการรักษาฉุกเฉินก็สามารถถ่ายเอกซเรย์และรับการรักษาทางทันตกรรมได้
โดย Admin คลินิกทันตกรรมสไมล์แอนด์ชายน์